หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความหมายและองค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ

ความหมายและองค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ


1. ความหมายและองค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ 

เทคโนโลยี (technology) หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ 

        สารสนเทศ (information) หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ได้ผ่านการประมวลผลและนำมาใช้ประโยชน์ตามความต้องการ 

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) คือ การประยุกต์เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาจัดการสารสนเทศที่ต้องการ ได้แก่ การรวบรวมและการตรวจสอบข้อมูล การประมวลผล และการดูแลรักษาข้อมูล รวมถึงการจัดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนสารสนเทศ โดยอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ (computer technology) และเทคโนโลยีด้านเครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสาร (communication technology) 
1. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (computer technology) เป็นเทคโนโลยีสำหรับการจัดการสารสนเทศ ได้แก่ การรวบรวมและการตรวจสอบข้อมูล การประมวลผล และการดูแลรักษาข้อมูลเพื่อให้ได้สารสนเทศตามที่ต้องการอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจัดการสารสนเทศต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการรับข้อมูล การประมวลผล การแสดงผล และการจัดเก็บข้อมูล 
2. เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม (communication technology) เป็นเทคโนโลยีสำหรับการกระจายและเผยแพร่สารสนเทศไปยังผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบโทรคมนาคม เช่น ระบบโทรศัพท์ โทรเลข วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ รวมถึงเทคโนโลยีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วย


ที่มา ; https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-
thekhnoloyi

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ

สามารถอธิบายความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ของผู้คนไว้หลายประการดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สังคมเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมสารสนเทศ 
ประการที่สอง เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกผูกพันกับทุกประเทศ ความเชื่อมโยงของเครือข่ายสารสนเทศทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัฒน์ 
ประการที่สาม เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้องค์กรมีลักษณะผูกพัน มีการบังคับบัญชาแบบแนวราบมากขึ้น หน่วยธุรกิจมีขนาดเล็กลง และเชื่อมโยงกันกับหน่วยธุรกิจอื่นเป็นเครือข่าย การดำเนินธุรกิจมีการแข่งขันกันในด้านความเร็ว โดยอาศัยการใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นตัวสนับสนุน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว 
ประการที่สี่ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีแบบสุนทรียสัมผัส และสามารถตอบสนองตามความต้องการการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ที่เลือกได้เอง
ประการที่ห้า เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทางการทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา
ประการที่หก เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการระยะยาวขึ้น อีกทั้งยังทำให้วิถีการตัดสินใจ หรือเลือกทางเลือกได้ละเอียดขึ้น 
            กล่าวโดยสรุปแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทที่สำคัญในทุกวงการ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกด้านความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเมือง ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาต่าง ๆ

ที่มา: http://www.kmitl.ac.th/agritech/nutthakorn/04093009_2204/isweb/Lesson%2022.htm

องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ

1. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ 
คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจดจำข้อมูลต่าง ๆ และปฏิบัติตามคำสั่งที่บอก เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ คอมพิวเตอร์นั้นประกอบด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อเชื่อมกันเรียกว่า ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์นี้จะต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกกันว่า ซอฟต์แวร์ (Software) 
            ฮาร์ดแวร์ ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ 
· อุปกรณ์รับข้อมูล (Input) เช่น แผงแป้นอักขระ (Keyboard), เมาส์เครื่องตรวจกวาดภาพ (Scanner), จอภาพสัมผัส (Touch Screen), ปากกาแสง (Light Pen), เครื่องอ่านบัตรแถบแม่เหล็ก (Magnetic Strip Reader), และเครื่องอ่านรหัสแท่ง (Bar Code Reader) 
· อุปกรณ์ส่งข้อมูล (Output) เช่น จอภาพ (Monitor), เครื่องพิมพ์ (Printer), และเทอร์มินัล 
· หน่วยประมวลผลกลาง จะทำงานร่วมกับหน่วยความจำหลักในขณะคำนวณหรือประมวลผล โดยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการดึงข้อมูลและคำสั่งที่เก็บไว้ไว้ในหน่วยความจำหลักมาประมวลผล
· หน่วยความจำหลัก มีหน้าที่เก็บข้อมูลที่มาจากอุปกรณ์รับข้อมูลเพื่อใช้ในการคำนวณ และผลลัพธ์ของการคำนวณก่อนที่จะส่งไปยังอุปกรณ์ส่งข้อมูล รวมทั้งการเก็บคำสั่งขณะกำลังประมวลผล
·  หน่วยความจำสำรอง ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและโปรแกรมขณะยังไม่ได้ใช้งาน เพื่อการใช้ในอนาคต

            ซอฟต์แวร์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นมากในการควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                    ซอฟต์แวร์ระบบ มีหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ระบบสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ คือ
                            
1. โปรแกรมระบบปฏิบัติการ ใช้ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พ่วงต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างโปรแกรมที่นิยมใช้กัน ในปัจจุบัน เช่น UNIX, DOS, Microsoft Windows
                            2. โปรแกรมอรรถประโยชน์ ใช้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในระหว่างการประมวลผลข้อมูลหรือในระหว่างที่ใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างโปรแกรมที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เช่น โปรแกรมเอดิเตอร์ (Editor)
                            3. โปรแกรมแปลภาษา ใช้ในการแปลความหมายของคำสั่งที่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจ และทำงานตามที่ ผู้ใช้ต้องการ
                    ซอฟต์แวร์ประยุกต์ เป็นโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อทำงานเฉพาะด้านตามความต้องการ ซึ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์นี้สามารถแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
                            
1. ซอฟต์แวร์ประยุกต์เพื่องานทั่วไป เป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทั่วไปไม่เจาะจงประเภทของธุรกิจ ตัวอย่าง เช่น Word Processing, Spreadsheet, Database Management เป็นต้น
                            
2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน เป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในธุรกิจเฉพาะ ตามแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้
                            
3. ซอฟต์แวร์ประยุกต์อื่น ๆ เป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิง และอื่น ๆ นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ประยุกต์สองชนิดข้างต้น ตัวอย่าง เช่น Hypertext, Personal Information Management และซอฟต์แวร์เกมต่าง ๆ เป็นต้น
 
2. เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม 
เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ใช้ในการติดต่อสื่อสารรับ/ส่งข้อมูลจากที่ไกล ๆ เป็นการส่งของข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือที่อยู่ห่างไกลกัน ซึ่งจะช่วยให้การเผยแพร่ข้อมูลหรือสารสนเทศไปยังผู้ใช้ในแหล่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และทันการณ์ ซึ่งรูปแบบของข้อมูลที่รับ/ส่งอาจเป็นตัวเลข (Numeric Data) ตัวอักษร (Text) ภาพ (Image) และเสียง (Voice) 
เทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารหรือเผยแพร่สารสนเทศ ได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบโทรคมนาคมทั้งชนิดมีสายและไร้สาย เช่น ระบบโทรศัพท์,โมเด็มแฟกซ์โทรเลขวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ เคเบิ้ลใยแก้วนำแสง คลื่นไมโครเวฟ และดาวเทียม เป็นต้น
สำหรับกลไกหลักของการสื่อสารโทรคมนาคมมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ส่วน ได้แก่ ต้นแหล่งของข้อความ (Source/Sender), สื่อกลางสำหรับการรับ/ส่งข้อความ (Medium), และส่วนรับข้อความ (Sink/Decoder) 
            
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถจำแนกตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 6 รูปแบบ ดังนี้ต่อไปนี้ คือ
                        
1. เทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เช่น ดาวเทียมถ่ายภาพทางอากาศกล้องดิจิทัลกล้องถ่ายวีดีทัศน์เครื่องเอกซเรย์ ฯลฯ
                        
2. เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล จะเป็นสื่อบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น เทปแม่เหล็กจานแม่เหล็กจานแสงหรือจานเลเซอร์บัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ
                        
3. เทคโนโลยีที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูล ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์
                        
4. เทคโนโลยีที่ใช้ในการแสดงผลข้อมูล เช่น เครื่องพิมพ์จอภาพพลอตเตอร์ ฯลฯ
                        
5. เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดทำสำเนาเอกสาร เช่น เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องถ่ายไมโครฟิล์ม
                        
6. เทคโนโลยีสำหรับถ่ายทอดหรือสื่อสารข้อมูล ได้แก่ ระบบโทรคมนาคมต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์วิทยุกระจายเสียงโทรเลขเทเล็กซ์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งระยะใกล้และไกล

ที่มา : http://www.kmitl.ac.th/agritech/nutthakorn/04093009_2204/isweb/Lesson%2023.htm


องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ

ในระบบสารสนเทศนั้นประกอบด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ บุคลากร ขั้นตอนการทำงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และข้อมูล
1) บุคลากร เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจวิธีการในการดำเนินการ และจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศทั้งหมด บุคลากรจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
2) ขั้นตอนการปฏิบัติ หมายถึง ระเบียบวิธีการปฏิบัติงานในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำให้เป็นสารสนเทศได้ เช่น การกำหนดให้มีการป้อนข้อมูลทุกวัน การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ

3) เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือฮาร์ดแวร์ เป็นอุปกรณ์ที่ประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยคีย์บอร์ด เมาส์ จอภาพ หน่วยระบบ และอุปกรณ์อื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์
จะถูกควบคุมโดยซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการสารสนเทศ 
4) ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมในระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟท์แวร์แอพพลิเคชั่น (Application Software) เป็นชุดคำสั่งที่เรียงเป็นลำดับขั้นตอน 
มีหน้าที่สั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามวัตถุประสงค์ และประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
5) ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคล วัตถุหรือสถานที่ ข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะใช้เป็นเครื่องช่วยในการวางแผนงานการบริหารจัดการ ดังนั้นข้อมูลจะต้องมีความถูกต้อง มีความเที่ยงตรง สามารถเชื่อถือได้ มีความเป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ และมีความสมบูรณ์ชัดเจน 

ที่มา : http://www.ictkm.info/content/detail/14.html

เทคนิคในการคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา

   การคิดหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เพื่อหาวิธีที่มีความแตกต่างและหลากหลาย โดยควรจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน แล้วพยายามใช้ความคิดสร้างสรรคเฟ้นหาวิธีแก้ไขไว้มากๆ อย่างน้อย 20 วิธี ซึ่งมีหลักง่ายๆที่ช่วยให้เราคิดได้มากขึ้นดังนี้คือ
          พยายามคิดนอกกรอบประสบการณ์และความชำนาญที่เรามีอยู่ ให้ความสำคัญกับทุกความคิดหรือทุกๆ วิธีแก้เท่าๆกัน หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินความคิดใหม่ๆ ที่เพิ่งคิดออก แต่ควรใช้ความคิดนั้นเป็น ตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาวิธีแก้ที่สืบเนื่องต่อมาจากความคิดนั้น แม้ว่าจะคิดหาทางแก้ได้ดีที่สุดแล้วก็ไม่ควรหยุดความพยายามที่จะคิดหาวิธี ต่อไป พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีแก้ทุกวิธีให้ชัดเจน เพราะจะช่วยทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆขึ้นมาได้ Mind Mapping แผนภูมิความคิดเพื่อแก้ไขปัญหา
          การทำแผนภูมิความคิดหรือ Mind Mapping ถือเป็นการกระตุ้นสมองให้เกิดความคิดที่เป็นอิสระจากปัญหาที่เป็นศูนย์กลาง ออกไปสู่วิธีแก้ปัญหาต่างๆ ที่แปลกและแตกต่างจากเดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยเริ่มจากการเขียนสาเหตุของปัญหาไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วลากเส้นโยงออกมารอบๆ
          ถ้าคิดวิธีแก้ไขได้ ก็ให้เขียนวิธีนั้นไว้เหนือเส้นที่เพิ่งลากออกมา ถ้าความคิดไหนสัมพันธ์หรือสนับสนุนวิธีแก้ไขที่มีอยู่แล้ว ก็ให้เติมความคิดใหม่นั้นต่ออกมาจากวิธีแก้เดิม ด้วยการลากเส้นแขนงออกจากเส้นหลัก แล้วเขียนความคิดใหม่กำกับลงไป เมื่อเราได้ความคิดใหม่ๆที่หลากหลายแล้ว ก็สามารถนำความคิดเหล่านั้นไปใช้ในขั้นตอนของการวางแผนแก้ไขปัญหาได้
Brainstorming ระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหา
          การระดมสมอง หรือ Brainstroming คือการะดมความคิดจากหลายๆคน เพื่อคิดหาสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสม และได้ผลดี ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางกฎพื้นฐานในการระดมสมองไว้ เพื่อเป็นกรอบหรือแนวทางพื้นฐาน เช่น ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินว่าความคิดใดดีหรือไม่ดี ถ้าใครคิดวิธีการอะไรได้ต้องกล้าพูดอกมา และอย่าอายที่จะนำความคิดของคนอื่นมาผสมผสานกับความคิดของตน เพื่อสร้างเป็นความคิดใหม่… นอกจากนี้ยังต้องมีการวางขั้นตอนในการระดมสมองให้เป็นลำดับ เช่น กำหนดเวลาในการระดมสมอง กำหนดให้มีคนจดวิธีแก้ปัญหา เขียนสาเหตุของปัญหาที่ต้องการจะแก้ให้เห็นชัดเจน และให้สมาชิกทุกคนแสดงความคิดเห็นเรียงกันไปทีละคน ที่สำคัญต้องจดทุกความคิด ไม่ว่าจะแปลกประหลาดขนาดไหนก็ตาม เพื่อนำไปประเมินและคัดเลือกในภายหลัง
          Modified Delphi…เทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหา เทคนิคโมดิฟายด์ เดลฟี เหมาะกับทีมงานที่มีสมาชิกไม่ค่อยชอบพูด หรือบางคนพูด มากจนไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูด เทคนิคนี้มีกระบวนการง่ายๆ ดังนี้ครับ
          เริ่มจากให้หัวหน้าทีมหรือผู้ประสานงานแจ้งหรือทบทวนสาเหตุ ผลการวิเคราะห์ และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทุกคนทราบ จากนั้นก็แจกกระดาษเปล่า เพื่อให้สมาชิกทุกคนเขียนวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยเขียนให้ได้มากที่สุด เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็เก็บกระดาษทั้งหมด มาจดลงบนกระดาน แล้วให้หัวหน้าทีมอ่านให้ทุกคนฟังชัดๆ จากนั้นก็แจกกระดาษเปล่าอีกครั้ง ให้ทุกคนลำดับความสำคัญของวิธีแก้ไข ซึ่งอาจจะให้จัดมา 5 อันดับจากวิธีแก้ไขที่อยู่บนกระดานทั้งหมด 20 วิธี จากข้อมูลนี้เราก็นำมาจัดอันดับความสำคัญของวิธีแก้ปัญหาใหม่อีกครั้ง และสุดท้ายก็คือ พิจารณาว่าควรมีการแก้ไขอันดับที่ได้หรือไม่ แล้วร่วมกันลงมติเลือกกลุ่มวิธีแก้ที่ดีที่สุด …
          นี่ล่ะครับ คืออีกหนึ่งวิธีคิดแก้ไขปัญหาด้วยเทคนิคโมดิฟายด์ เดลฟี…
          ทำอย่างไร..ไม่ให้เส้นตายกลายเป็นปัญหาบ่อยครั้งที่เส้นตาย หรือ Deadline ที่เป็นตัวกำหนดเวลาแล้วเสร็จของงานแต่ละชิ้นกลายเป็นจุดวิกฤติ และกลับมาเพิ่มปัญหาให้กับตัวเราเอง ฉะนั้นต้องหาทางแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
          ประเมินเวลาในการทำงาน เพื่อกำหนดเวลาแล้วเสร็จให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดแล้วลองบวก เผื่อไว้อีก 5-10 % เส้นตายใหญ่ๆของทั้งโครงการถือเป็นเรื่องวิกฤติที่อาจทำให้เราเครียดไปตลอด ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงจากความเครียดด้วยการแบ่งออกเป็นเส้นตายย่อยๆของแต่ละงานหรือแต่ละกิจกรรม เรื่องใหญ่ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปทันที อย่าเลื่อนกำหนดเส้นตายที่ได้ตกลงกันไว้ออกไป เพราะถ้าลองได้เลื่อนแล้วจะติดเป็นนิสัย ต่อไปจะไม่มีใครเชื่อถือ และยังทำให้สูญเสียศรัทธาจากผู้คนรอบข้างอีก
ที่มา ; http://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2